Custom Search
 
เกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จ.พังงา (ดูภาพด้านล่าง)

หมายเหตุ : เนื้อหาและรูปภาพในหัวข้อเกาะยาวน้อยนี้มีด้วยกันทั้งหมด 4 หน้า ท่านสามารถ click link ตัวเลขที่ด้านล่างสุดของหน้า เพื่อชมข้อมูลและรูปภาพในหน้าต่าง ๆ ได้ตามความต้องการ

    ในยุคสมัยโลกาภิวัตน์ที่สิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สังคมเต็มเปี่ยมไปด้วยความวุ่นวาย แก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่น จนหาความสงบสุขได้ลำบากดังเช่นในทุกวันนี้ ยังมีเกาะเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในฝั่งทะเลอันดามัน จ.พังงา ที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงรักษารูปแบบวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมประเพณีสมัยปู่ย่าตายายเอาไว้อย่างเหนียวแน่น ส่งผลให้ ณ ที่แห่งนี้ วิถีชุมชนอันเรียบง่าย ความสงบสุข รอยยิ้มและน้ำใจไมตรี เป็นสิ่งซึ่งสามารถพบเจอได้ง่าย ๆ จนกลายเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากหน้าหลายตาทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศให้ตัดสินใจเดินทางมาเยือนเกาะเล็ก ๆ แห่งนี้
     “เกาะยาวน้อย” อ.เกาะยาว จ.พังงา ประเทศไทย คือ เกาะเล็ก ๆแห่งหนึ่งในฝั่งทะเลอันดามันซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมที่เคร่งครัด ส่วนมากประกอบอาชีพทำสวนยาง สวนมะพร้าว ปลูกข้าว ทำปศุสัตว์ เลี้ยงกุ้งมังกร – ปลาในกระชัง และทำประมงเป็นหลัก วิถีชีวิตอันเรียบง่ายงดงามของชาวบ้านเหล่านี้เองที่เป็นสิ่งซึ่งทำให้เกาะยาวน้อยกลายเป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอนุรักษ์แห่งสำคัญของ จ.พังงา นอกจากนั้นแล้วบนเกาะยาวน้อยยังมีชายหาดที่เงียบสงบ แม้ว่าหาดทรายจะไม่ได้ขาวนวลเนียนนุ่มเท้า หรือน้ำทะเลอาจจะไม่ได้ใสแจ๋วมากมายนัก แต่นักท่องเที่ยวผู้ซึ่งต้องการปล่อยอารมณ์เรื่อย ๆ เอื่อย ๆ เล่นน้ำอาบแดดในบรรยากาศที่ค่อนข้างเป็นส่วนตัวสักหน่อยก็ยังคงยินดีที่จะเดินทางมาพักผ่อนบนชายหาดอันห่างไกลจากความสับสนวุ่นวายเหล่านี้



ท่าเรือบางโรง จ.ภูเก็ต ท่าเรือบางโรง จ.ภูเก็ต ท่าเรือบางโรง จ.ภูเก็ต
ท่าเรือบางโรงซึ่งเชื่อมต่อระหว่าง จ.ภูเก็ต และหมู่เกาะยาว จ.พังงา

    

     ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม (www.thongteaw.com) ได้มีโอกาสเดินทางมาเก็บข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ บนเกาะยาวน้อยเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2553 โดยทีมงานของเราเลือกตั้งต้นการเดินทางจาก “ท่าเรือบางโรง” จ.ภูเก็ต ค่าโดยสารเรือเที่ยวเดียวคนละ 120 บาท ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 1 ชม. – 1 ชม. 15 นาที ก็มาถึง “ท่าเรือมะเนาะห์” บนเกาะยาวน้อย การเดินทางมายังท่าเรือมะเนาะห์นี้นอกเหนือไปจากการเลือกโดยสารเรือจาก “ท่าเรือบางโรง” จ.ภูเก็ตแล้ว คุณยังอาจจะเลือกโดยสารเรือมาจาก “ท่าเรือท่าด่านศุลกากร (ท่าเรือท่าด่านฯ)” จ.พังงา , “ท่าเรือท่าเลน” จ.กระบี่ หรือหากมาเกาะยาวใหญ่แล้วอยากจะแวะเที่ยวต่อที่เกาะยาวน้อยก็เลือกไปขึ้นเรือ ณ “ท่าเรือคลองเหียะ” บนเกาะยาวใหญ่ก็ได้ (สำหรับรายละเอียดวิธีการต่าง ๆในการเดินทางมายังเกาะยาวน้อยนั้น ทีมงานได้สรุปไว้พอสังเขปในหัวข้อ “การเดินทาง” ซึ่งอยู่ในหน้าสุดท้ายของบทความเกาะยาวน้อยแล้วครับ) ในช่วงฤดูท่องเที่ยว (ประมาณกลางเดือน พ.ย. – ปลายเดือน เม.ย.) บริเวณท่าเรือมะเนาห์ เกาะยาวน้อยนี้จะมีรถสองแถวและรถจักรยานยนต์รับจ้างมาคอยรอรับนักท่องเที่ยวไปส่งยังสถานที่ต่าง ๆ บนเกาะ หากใครสามารถขับขี่จักรยานยนต์ได้ก็อาจจะเลือกเช่าจักรยานยนต์เป็นรายวันแล้วขี่เที่ยวรอบเกาะเองก็ได้ ค่าเช่าตกอยู่ที่ประมาณวันละ 200 – 250 บาท (ไม่รวมค่าน้ำมัน) ส่วนคนที่เดินทางมาเป็นหมู่คณะก็สามารถติดต่อเหมารถสองแถวเที่ยวรอบเกาะได้เช่นกัน ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณวันละ 800 – 1,000 บาท สำหรับผู้ซึ่งไม่ได้ติดต่อจองที่พักบนเกาะยาวน้อยล่วงหน้ามาก่อนให้ลองสอบถามข้อมูลกับเจ้าของรถสองแถวหรือเจ้าของรถจักรยานยนต์รับจ้างดู หลายครั้งเจ้าของรถเหล่านี้จะแนะนำที่พักให้พร้อมทั้งช่วยขับรถไปส่ง (ต้องจ่ายค่ารถตามระยะทางให้เจ้าของรถด้วยนะครับ)

         

วิถีชุมชนเกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จ.พังงา การทำปลาตากแห้ง วิถีชุมชนเกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จ.พังงา การเลี้ยงสัตว์ วิถีชุมชนเกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จ.พังงา วิถีชุมชนเกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จ.พังงา
วิถีชุมชนอันเรียบง่าย งดงาม บนเกาะยาวน้อย

วิถีชุมชนเกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จ.พังงา การทำปลาตากแห้ง วิถีชุมชนเกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จ.พังงา วิถีชุมชนเกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จ.พังงา
ป่าชายเลนบริเวณบ้านท่าค่าย ,ชาวบ้านกำลังตากปลาแห้ง และฝูงควายในนาข้าว เรียงตามลำดับ

วิถีชุมชนเกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จ.พังงา วิถีชุมชนเกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จ.พังงา วิถีชุมชนเกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จ.พังงา วิถีชุมชนเกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จ.พังงา
อีกมุมหนึ่งกับบรรยากาศป่าชายเลน และควายในสวนมะพร้าว (เลี้ยงเอาไว้เก็บมะพร้าว!?)


     บนเกาะยาวน้อยมีรูปแบบการท่องเที่ยวหลัก ๆ ที่นักท่องเที่ยวนิยมอยู่ 3 รูปแบบ คือ

           1.ท่องเที่ยวชมวิถีชีวิตชุมชน อาจเลือกติดต่อโปรแกรมท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์มาก่อนล่วงหน้า หรืออาจจะเลือกเที่ยวชมอย่างอิสระด้วยการเช่าเหมารถสองแถว/จักรยานยนต์ก็ได้ วิถีชุมชนซึ่งสามารถพบเห็นอยู่โดยรอบเกาะยาวน้อยและนักท่องเที่ยวนิยมไปเยี่ยมชม ได้แก่
           “การทำสวนยางพารา” เป็นอาชีพหลักอย่างหนึ่งของชาวเกาะยาวน้อย หากนักท่องเที่ยวต้องการชมการกรีดยางต้องตื่นตั้งแต่ช่วงตี 3 – ตี 4 แล้วออกไปที่สวนพร้อมกับชาวบ้าน ต้นยางที่ปลูกไว้จะสามารถเริ่มกรีดน้ำยางได้หลังจากเริ่มปลูกเร็วที่สุดเมื่อต้นยางอายุประมาณ 5 ปีขึ้นไป (แต่ส่วนใหญ่จะเริ่มกรีดยางเมื่อต้นยางมีอายุ 7 ปีขึ้นไป) การกรีดยางนั้นสามารถกรีดได้ตลอดทั้งปียกเว้นช่วงวันที่มีฝนตกเพราะน้ำฝนจะทำให้หน้ายางเสีย (ในช่วงฤดูฝนจึงไม่นิยมกรีดยาง) และในช่วงฤดูร้อนที่อากาศแล้งมาก ๆ ก็จะไม่นิยมกรีดยางเนื่องจากจะได้น้ำยางน้อย นอกจากนั้นในช่วงที่ต้นยางมีการผลัดใบชาวบ้านก็จะงดการกรีดยางด้วยเพื่อให้ต้นยางได้มีช่วงเวลาพัก สำหรับการทำยางแผ่นนั้นมักจะทำในช่วงเช้า – สายโดยจะนำน้ำยางที่กรีดได้มาเทรวมกันใส่ถังพักไว้ประมาณ 1 ชม. เติมน้ำยาเคมีเพื่อทำให้น้ำยางจับตัวกัน จากนั้นนำมาเทใส่ถาดแล้วพักไว้ประมาณ 30 นาที นำยางที่ขึ้นรูปแล้วมารีดเป็นยางแผ่น สุดท้ายจึงนำยางแผ่นมาตากผึ่งลมไว้ หากนักท่องเที่ยวต้องการเพียงแค่ชมสวนยางโดยไม่ต้องการชมการกรีดยางหรือรีดยางแผ่นก็สามารถแวะไปชมได้เองตลอดช่วงเวลากลางวัน ชาวบ้านส่วนใหญ่จะอนุญาตให้เดินเข้าไปชมสวนยางได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ปัจจุบันโปรแกรมทัวร์เกาะยาวน้อยส่วนใหญ่จะไม่รวมการพาไปกรีดยางในช่วงเช้าตรู่เนื่องจากเป็นกิจกรรมซึ่งไม่เป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยว แต่มักจะนิยมพานักท่องเที่ยวไปชมสวนยางในช่วงสาย – บ่าย พร้อมทั้งอธิบายกระบวนการกรีดน้ำยาง - ผลิตยางแผ่นแทน

 

การทำสวนยางพารา การกรีดยาง ทำยางแผ่น วิถีชุมชนเกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จ.พังงา การทำสวนยางพารา การกรีดยาง ทำยางแผ่น วิถีชุมชนเกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จ.พังงา การทำสวนยางพารา การกรีดยาง ทำยางแผ่น วิถีชุมชนเกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จ.พังงา การทำสวนยางพารา การกรีดยาง ทำยางแผ่น วิถีชุมชนเกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จ.พังงา
อุปกรณ์ทำยางแผ่นซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปตามสวนยางพาราบนเกาะยาวน้อย

การทำสวนยางพารา การกรีดยาง ทำยางแผ่น วิถีชุมชนเกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จ.พังงา การทำสวนยางพารา การกรีดยาง ทำยางแผ่น วิถีชุมชนเกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จ.พังงา การทำสวนยางพารา การกรีดยาง ทำยางแผ่น วิถีชุมชนเกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จ.พังงา
เส้นทางสวนยางอันสวยงามรอบ ๆเกาะ

การทำสวนยางพารา การกรีดยาง ทำยางแผ่น วิถีชุมชนเกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จ.พังงา การทำสวนยางพารา การกรีดยาง ทำยางแผ่น วิถีชุมชนเกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จ.พังงา การทำสวนยางพารา การกรีดยาง ทำยางแผ่น วิถีชุมชนเกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จ.พังงา การทำสวนยางพารา การกรีดยาง ทำยางแผ่น วิถีชุมชนเกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จ.พังงา
เครื่องรีดยางแผ่น ,กระบอกรองน้ำยางซึ่งมีน้ำยางสดอยู่เกือบเต็ม ,ยางแผ่น และถังเก็บ/หมักน้ำยาง


     “การทำประมง” นอกจากการทำสวนยางพาราแล้ว การทำประมงยังเป็นอาชีพหลักอีกอย่างหนึ่งซึ่งสร้างรายได้และเป็นแหล่งอาหารสำคัญของชาวบ้านบนเกาะยาวน้อย ระหว่างทางที่นั่งรถท่องเที่ยวไปรอบ ๆเกาะคุณจะสามารถพบเห็นเรือหัวโทงซึ่งชาวบ้านใช้ในการทำประมงจอดเรียงรายอยู่ตามชายหาดต่าง ๆโดยเฉพาะบริเวณ “หาดแหลมไทร” ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวประมง หรือบางครั้งก็อาจจะได้เห็นชาวบ้านกำลังช่วยกันเก็บปลาแห้งซึ่งตากเอาไว้เต็มลานอยู่ หากคุณเลือกซื้อโปรแกรมทัวร์ไปเที่ยวหมู่เกาะต่าง ๆ รอบเกาะยาวน้อยโดยเรือหัวโทงของชาวบ้านล่ะก็อาจจะมีโอกาสได้แวะดูอวนปูอวนกุ้งที่วางเอาไว้กลางทะเล หรือหากโชคดีกว่านั้นก็อาจจะได้ช่วยกู้อวนขึ้นจากน้ำระหว่างเดินทางกลับสู่เกาะยาวน้อยในช่วงที่โปรแกรมทัวร์จบแล้วด้วย (ส่วนใหญ่จะมีการกู้อวนปูประมาณเดือนละ 20 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพกระแสน้ำ)



เกาะยาวน้อย หน้า 1 2 3 4




 


แผนผังเว็บไซต์ (Site Map)


บทความและภาพทุกภาพภายในเว็บไซต์หน้านี้เป็นลิขสิทธิ์ของท่องเที่ยวดอทคอม
(www.Thongteaw.com)
หากผู้ใดทำการคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไขหรือนำไปใช้ในกรณีใด ๆ
โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากทางทีมงาน
จะถูกดำเนินการทางกฎหมายขั้นเด็ดขาด


Copy right © Since 2008 by Thongteaw.com - All Rights Reserved
เลขทะเบียนพาณิชย์อิเล็คโทรนิคส์ 3102201494154